รู้เรา รู้เลนส์ ซื้อร้อยครั้งโดนใจร้อยครั้ง

การเลือกซื้อเลนส์แต่ละครั้งเปรียบเหมือนสนามรบที่เราต้องวางแผน ศึกษาหาข้อมูลกันค่อนข้างละเอียดเพราะตัวเลือกในตลาดเวลานี้มีเยอะมากจนบางครั้งเราไม่รู้ว่าเลนส์ตัวไหนเหมาะกับเรา.  EC-Mall ร้านกล้องที่คุณวางใจขอมอบแนวคิดสำหรับมือใหม่ยึดถือเป็นหลักเบื้องต้นก่อนเข้าสู่สนามเลนส์ “รู้เลนส์ รู้เรา ซื้อร้อยครั้งโดนใจร้อยครั้ง” ข้อสำคัญเบื้องต้นที่จะช่วยให้การเลือกซื้อเลนส์ของตากล้องนั้นง่ายขึ้น เป็นขั้นเป็นตอนและได้เลนส์ที่จะใช้งานจริงๆ 

Part 1 รู้เรา 

1.ตรวจสอบเลนส์ในคลังแสงก่อน 

ฟังดูเป็นเรื่องตลแต่เชื่อหรือไม่ว่ามีหลายคนมักจะลืมเลนส์บางตัวที่ไม่ได้ใช้ หรือเลนส์ที่ไม่ถูกใจไว้ที่บ้านจนบางครั้งจำไม่ได้ว่าเคยมีเลนส์นี้ การตรวจสอบจำนวนและชนิดของเลนส์เพื่อให้แน่ใจว่าของที่มีอยู่นั้นมีจำนวนเท่าไร เลนส์ไหนไม่ได้ใช้ เลนส์ตัวไหนที่ควรปลดระวาง จัดการส่วนเกินให้เรียบร้อยจะทำให้เราเห็นช่องว่างของอุปกรณ์ว่าเรายังขาดอะไรรวมถึงยังเป็นการทบทวนตัวเองไปด้วยว่าของที่มีอยู่พอแล้วหรือยัง เพื่อจะได้เห็นภาพรวมว่าเราจะเติมเลนส์ตัวไหนเข้าบ้าน 

2.กล้องถ่ายภาพที่ใช้ 

กล้องถ่ายภาพเป็นปัจจัยสำคัญที่เราต้องทราบตั้งแต่แรกเพราะเป็นปัจจัยต้นๆในการเลือกเลนส์ที่ใช้งานร่วมกับกล้องได้เต็มประสิทธิภาพ ขั้นแรกเริ่มจากตรวจสอบกล้องที่มีเป็นของแบรนด์ไหน และเซนเซอร์กล้องเป็นแบบ Micro fourthird, APS-C หรือ fullframe ซึ่งเซนเซอร์จะมีผลมากทีเดียวเนื่องจากเซนเซอร์ขนาด APS-C, Micro four third จะมีการคูณระยะเลนส์เพิ่มไปจากเดิม เช่น canon 200d mark II ใส่คู่กับเลนส์ 50 mm จะได้ระยะจริงที่ประมาณ 80มม.(50×1.6(ระยะคูณเซนเซอร์))เป็นต้น ทำให้ผู้ผลิตเลนส์แต่ละค่ายจะผลิตเลนส์ให้สอดคล้องกับเซนเซอร์เพราะถ้าเราใช้เลนส์ไม่ตรงประเภทอาจจะมีปัญหาเรื่องของการใช้เลนส์ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ

 ต่อมาคือเรื่อง mount ที่ต้องซื้อให้ตรงกับตัวกล้องอยู่แล้ว แต่มีหลายคนที่ชอบประยุกต์การใช้เลนส์ให้มีความหลากหลายผ่านอะแดปเตอร์เป็นต้น มาช่วยให้เราสามารถนำเลนส์ของค่ายอื่นหรือคนละเมาท์มาใช้กับกล้องที่เรามีได้ด้วย อย่างเช่นเลนส์กล้องฟิล์มเก่าเก็บ เลนส์กล้อง CCTV เลนส์ต่างค่ายมาต่อผ่านอะแดปเตอร์เข้ากับกล้องดิจิตอล เป็นตัวช่วยให้เราประหยัดงบและอาจได้ภาพมุมมองที่แปลกใหม่ได้ กรณีที่เลนส์ค่ายมีราคาแพงอย่างซีรี่ส์ G Master ที่มีบางคนนำเลนส์แคนอนซึ่งราคาถูกกว่ามาติดอะแดปเตอร์ใช้แทนได้ ซึ่งมีหลายรูปแบบตั้งแต่กระบอกอลูมิเนียมธรรมดา ไปจนถึงมีระบบที่เชื่อมต่อระบบโฟกัสข้ามค่ายได้ เช่น Viltrox และ metabone เป็นต้น

3.ลักษณะการใช้งาน 

ตรวจสอบของในคลังแสงเรียบร้อย ต่อมาควรมานั่งไตร่ตรองว่า ลักษณะงานที่เราใช้เป็นแบบไหน ช่างภาพบางคนอยากถ่ายภาพวิวทิวทัศน์ ก็จะเหมาะกับเลนส์มุมกว้าง หากชอบถ่ายภาพบุคคลอาจจะมองหาเลนส์ Fix หรือชอบถ่ายนก แมลงจะเหมาะกับเลนส์เทเลและเลนส์มาโครเป็นต้น เมื่อเรานิยามลักษณะการใช้งานได้แล้วเราก็สามารถจำกัดปริมาณเลนส์ที่ไม่เราต้องการออกไปได้ครึ่งหนึ่งเลยทีเดียว 

4.งบประมาณ 

“เงินแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง” วลีเด็ดของคนเล่นกล้องที่มักจะบอกต่อกันมานานถึงเลนส์ที่มีคุณภาพสูงมักมีมูลค่าที่สูงตามมาด้วย ดังนั้นเพื่อไม่ให้งบประมาณบานปลายจนนำไปสู่เหตุการณ์กระเป๋าฉีก การสำรวจและตั้งงบที่เราพิจารณาโดยถี่ถ้วนตั้งแต่ต้นจะช่วยให้เรามีความสุขกับเลนส์ที่ได้มาและอาจจะทำให้เรามีเงินเหลือที่จะออกเดินทางถ่ายภาพเพื่อพัฒนาฝีมืออีกด้วย 

แต่ก็มีอีกแนวคิดว่า “เจ็บแล้วจบ” คือการซื้อเลนส์ตัวท็อปทีเดียวจะได้ไม่ต้องมาคอยขยับซื้อตัวใหม่บ่อยครั้ง แม้จะเป็นแนวคิดที่ดีแต่ผู้ใช้งานต้องมั่นใจว่าเลนส์เป้าหมายนั้นเราใช้บ่อยและจะไม่มีแผนเปลี่ยนในเร็วๆนี้ แน่นอนรวมถึงเงินในกระเป๋ามีพอให้เราไม่เดือดร้อนก็สามารถจัดเข้าคลังไปได้เลย 

Part 2 รู้เลนส์ 

1.ระยะเลนส์หรือ focal length 

เป็นปัจจัยเริ่มต้นในการเลือกเลนส์เพราะระยะเลนส์ที่เลือกจะมีผลกับการใช้งานของเราค่อนข้างมากทีเดียว โดยบทความนี้จะขอแบ่งระยะเลนส์ออกเป็นสามชนิดคือมุมกว้าง เทเลโฟโต้และนอมอล(Normal) ทั้งสามประเภทจะมีข้อดีและข้อด้อยที่แตกต่างกัน 

มุมกว้าง (Wide angle) ระยะเลนส์ที่เหมาะกับการถ่ายภาพวิวเพราะมีมุมรับภาพที่กว้างมากกว่าประเภทอื่น ทั้งยังมีขนาดไม่ใหญ่มากและน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับเลนส์เทเล แต่ในอีกด้านหนึ่งเลนส์มักมีอาการ Distortion หรืออาการบิดเบี้ยว อย่างภาพตึกที่ถ่ายด้วยเลนส์ Wide angle มักจะเห็นอาการตึกเบี้ยว แต่ช่างภาพหลายคนนำเอกลักษณ์นี้มาสรรสร้างให้ภาพดูน่าสนใจได้ ซึ่งระยะเลนส์ไวด์ที่มีในตลาดนั้นจะมีระยะประมาณตั้งแต่ 10 ถึงประมาณ 30 

เลนส์นอมอล(Normal lens) คือเลนส์ที่มีระยะเทียบเท่ากับสายตาปกติของมนุษย์ซึ่งคือระยะ 50มม.(เมื่อเทียบกับเลนส์ที่ใส่กับกล้องฟูลเฟรม) แต่ตามร้านค้าและคนทั่วไปบางส่วนมักจะเรียกเลนส์ที่มีระยะ 18-55mm. และ 24-70, 17-55mm, 15-45mm เป็นเลนส์ Normal zoom 

เทเลโฟโต้(Tele photo) เป็นเลนส์มีคุณสมบัติในการดึงภาพวัตถุระยะไกลให้ดูใกล้มากขึ้นหรือที่เรียกกันง่ายๆว่า Zoom เข้า ทั้งยังให้ความชัดตื้นที่ดีรวมถึงไม่ค่อยมีอาการบิดเบี้ยวให้เห็นทำให้ช่างภาพมักนำเลนส์ประเภทนี้มาถ่ายภาพบุคคลและยังสามารถละลายฉากหลังได้ดีมากๆ แต่ขนาดที่ตามมานั้นถือว่ากว่าใหญ่และหนักพอสมควร 

2.ชอบเลนส์ Fix หรือ Zoom 

แน่นอนว่าหลายคนอาจจะเลือกไปมองเลนส์ zoom เพราะมีระยะให้เราเลือกใช้หลากหลายกว่าและบางครั้งในสถานการณ์จริงเราไม่จำเป็นต้องเดินเข้าหาวัตถุให้เหนื่อย แค่ปรับระยะเลนส์ก็ได้ภาพตามที่ต้องการ สำหรับการดูว่าเลนส์ไหนเป็นเลนส์ซูมสังเกตได้ง่าย เพียงดูเลขระยะเลนส์บนบอดี้หรือหน้าเลนส์จะเขียนระยะเริ่มต้นถึงระยะสุดท้ายไว้ เช่น 18-55mm,15-30mm เป็นต้น

ส่วนเลนส์ Fix จะเป็นเลนส์ที่มีระยะเดียวอย่าง 50mm,85mm เป็นต้นซึ่งข้อดีของเลนส์ชนิดนี้คือมีขนาดเบา มีรูรับแสงที่กว้างแต่ข้อจำกัดที่มีคือเรื่องของระยะที่มีระยะเดียวหากต้องการให้วัตถุใหญ่ขึ้นหรือการจัดองค์ประกอบ ช่างภาพต้องเดินหรือขยับตัวเอง 

3.รูรับแสง 

เป็นอีกเรื่องสำคัญของคนถ่ายภาพมากอีกข้อหนึ่งและรูรับแสงก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ราคาค่าตัวของเลนส์ขยับสูงไปด้วยเพราะรูรับแสงที่กว้างนั้นจะช่วยให้การถ่ายภาพในที่แสงน้อยง่าย รวมถึงละลายฉากหลังได้สวยมากขึ้นด้วย โดยบทความนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือค่ารูรับแสงคงที่และค่ารูรับแสงซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งทั้งสองแบบนี้จะมีผลมากเมื่อเราสนใจซื้อเลนส์ซูม  

เริ่มต้นจากรูรับแสงคงที่ (Fixed aperture) คือการที่ระยะเลนส์มีการเปลี่ยนแปลงแต่ค่ารูรับแสงจะไม่เปลี่ยนตามอย่างเช่น 70-200 f/2.8 เมื่อเห็นค่ารูรับแสงค่าเดียวแบบนี้นั้นหมายความว่าแม้เราเปลี่ยนระยะไปที่ 200 ค่ารูรับแสงที่กว้างสุดที่กล้องทำได้จะอยู่ที่ f/2.8 แน่นอนว่าการสร้างเลนส์แบบนี้จะมีต้นทุนที่สูงเพราะโครงสร้างภายในจะมีความซับซ้อนทำให้ราคาที่ขายตลาดสูงตามไปด้วย 

ค่ารูรับแสงซึ่งเปลี่ยนแปลงได้(Variable aperture) เรียกกันแบบชาวบ้าน “f ไหล” มักเป็นเลนส์ที่ราคาถูกกว่าชนิดแรก โดยเลนส์จะมีการเปลี่ยนค่ารูรับแสงจากกว้างสุดลดไปเรื่อยๆ ตามระยะเลนส์ที่มาก  การสังเกตว่าเลนส์ไหนคือเลนส์ f ไหลง่ายๆ คือที่ตัวเลนส์จะมีค่ารูรับแสงสองค่าอย่างเช่น 18-55mm f/3.5-5.6 หมายความว่าเมื่อระยะเลนส์อยู่ที่ 18 จะสามารถเปิดรูรับแสงได้กว้างสุดที่ 3.5 แต่เมื่อเปลี่ยนระยะไปที่ 55  รูรับแสงจะกว้างสุดได้เพียง 5.6 ข้อดีของเลนส์กลุ่มนี้คือราคาไม่แรงและมีน้ำหนักเบากว่าเลนส์กลุ่มแรก 

4.ฟีเจอร์อื่นๆ 

สำหรับฟีเจอร์อื่นๆที่สำคัญซึ่งเป็นอีกปัจจัยกำหนดราคาให้สูงหรือต่ำ ฟีเจอร์เหล่านี้จะเป็นรายละเอียดที่ไม่ควรมองข้ามเพราะจะมีผลกับการใช้งานของกล้องและตัวเลนส์ รวมไปถึงคุณภาพของภาพถ่ายที่จะออกมาด้วย โดยฟีเจอร์ดังกล่าวมี

1.ระบบกันสั่น  ช่วยให้ลดอาการสั่นจากการจับถือของเราหรือในช่วงที่เราถ่ายในที่แสงน้อย 

2. การ Coating เพื่อป้องกันพวกฝุ่น ละอองน้ำเกาะเลนส์

3.โครงสร้างเลนส์ และชิ้นเลนส์พิเศษ ที่ช่วยลดอาการบิดเบี้ยว อาการพร่าสี รวมไปถึงความคมของภาพ

4.Weather Seal ป้องการน้ำเข้าบอดี้เลนส์ในขณะที่ฝนตกปรอยๆ หรือ ความชื้นเข้าเลนส์

เพียงเท่านี้พอจะช่วยให้เราสามารถเลือกซื้อเลนส์ให้เหมาะกับผู้ใช้งานมากขึ้นและได้เลนส์ที่มาตอบโจทย์การใช้ได้อย่างเหมาะสม